หลายคนคงเคยประสบปัญหา “อยากพักนะ แต่งานยังไม่เสร็จ” มีเวลาเท่าไหร่ก็ทำงานไม่เพียงพอ จนต้องไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนอันมีค่าที่จะใช้ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือลองหากิจกรรมใหม่ๆทำเพื่อพัฒนาตนเอง แต่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอ จนกลายเป็นว่าตัวเราเองทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำจนไม่มี Work-Life Balance ในชีวิต
วันนี้เราชวนทุกคนมาทำ Bullet Journal หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘บูโจ(BUJO)’ คิดค้นขึ้นโดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและนักเขียน Ryder Carroll เป็นวิธีการจดบันทึกด้วยมือ เพื่อจัดระเบียบชีวิต ลำดับความคิด สิ่งที่ต้องทำ ให้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น เพื่อเห็นภาพรวมชีวิตมากขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
ฟังดูแล้วก็คล้ายกับการจดแพลนเนอร์หรือทำ To do list ทั่วไป แต่บูโจนั้นเป็นการจดบันทึกที่ค่อนข้างอิสระ เราสามารถออกแบบบูโจของตัวเองได้ ตั้งแต่การเลือกสมุดจด การกำหนดหัวข้อ รวมถึงการออกแบบตกแต่งในสไตล์ของตัวเอง ใส่ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้อย่างเต็มที่ การจดบันทึกแบบบูโจไม่ได้บังคับว่าต้องจดลงสมุดเท่านั้น เราสามารถจดบันทึกลงในมือถือ โน้ตบุ๊ก หรือ แท็บเล็ตก็ได้ แต่สมุดบันทึกหน้าโล่งๆ จะช่วยให้เราทบทวนเรื่องต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของงานได้ชัดเจนมากขึ้น

หลักการทำ Bullet Journal
การเริ่มต้นทำ Bullet Journal มีหลักการง่ายๆ คือ 1.จดกระชับและเข้าใจง่าย 2.โครงสร้างการบันทึก
การจดบันทึกให้กระชับและเข้าใจง่ายจะช่วยให้เราประหยัดเวลาในการเขียน การอ่าน ถึงแม้จะต้องจดบันทึกให้กระชับและเข้าใจง่ายแต่ข้อความที่จดบันทึกควรครอบคลุมเนื้อหา ใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่ออย่างครบถ้วนด้วย ถ้าจดบันทึกข้อความที่สั้นแต่เมื่อเรากลับมาอ่านอีกครั้งไม่เข้าใจก็ไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญต้องมีในการจดบันทึกให้กระชับและเข้าใจง่ายมีดังนี้
1.ชื่อหัวข้อ (Topics) ทุกกิจกรรมที่ทำต้องมีการตั้งหัวข้อไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดและการจัดหมวดหมู่
2.เลขหน้า (Page Number) ต้องเขียนเลขหน้าและมีการจัดสารบัญ
3.ประโยคสั้นๆ ที่บอกสิ่งที่ต้องทำ (Short Sentences) เช่น งานที่ต้องทำ นัดหมาย
4.สัญลักษณ์แทนความหมาย (Bullets) การแสดงสถานะในการบันทึกสิ่งต่างๆ ซึ่งเราสามารถกำหนดสัญลักษณ์ด้วยตัวเองหรือใช้สัญลักษณ์หลักตามที่คนนิยมใช้ เช่น
+ แทน สิ่งที่ต้องทำ
X แทน งานที่ทำเสร็จแล้ว ปกติคือเขียนทับตัวข้างบน
> แทน งานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น
– แทน การจดบันทึกทั่วไป
° แทน Event หรือกิจกรรมที่ต้องทำ
! คือ แรงบันดาลใจหรือไอเดียต่างๆ
-เราอาจจะเขียนไว้ในหน้าแรก ๆ ของ บูโจก็ได้ จะได้ไม่ลืมว่าสัญลักษณ์คืออะไร –

โครงสร้างการบันทึกก็จำเป็นที่จะต้องมีเช่นเดียวกัน เพราะช่วยจัดระเบียบการทำงานทั้งในระยะสั้นและยาวให้ง่ายขึ้น ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมทั้งหมด หลังจากนั้นอาทิตย์ต่อไปหรือสัปดาห์ต่อไปเราจะได้วางแผนล่วงหน้าและกำหนดตารางงานชัดเจนมากขึ้น โดยโครงสร้างการบันทึกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
สารบัญ (Index) ที่จะช่วยให้เราค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่ได้ง่ายขึ้นว่าอะไรอยู่ที่หน้าไหนของสมุดบันทึก
การวางแผนล่วงหน้าในระยะยาว (Future Log) เป็นสิ่งที่เราจะทำในอนาคต เช่น เที่ยวต่างประเทศ ลาพักร้อน ถ้าเรามีแพลนจะทำธุรกิจอะไร หรือเริ่มหาคลาสเรียนพัฒนาตันเองในเดือนไหน วันที่เท่าไหร่ก็จะจดเอาไว้ ใน Future log ได้เช่นเดียวกัน
บันทึกแบบรายเดือน (Monthly Log) จะมีความเป็นปัจจุบันมากกว่า future logs จดบันทึกเลยว่าเดือนนี้ มีงานอะไรบ้าง อยากทำอะไรบ้าง วันที่เท่าไหร่ กี่โมง เราอาจจะพลิกไปที่หน้า future logs ก่อนว่าเราเคยแพลนจะทำอะไรบ้างในเดือนนี้ แล้วเราก็นำสิ่งที่แพลนไว้ มาเขียนลงใน monthly logs อีกที
บันทึกแบบรายวัน (Daily Log / Weekly Log) เปรียบเสมือน to do list รายวัน อาจจะมีการวางแพลนเขียนล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนถึงวันจริง
นอกจากนี้เราสามารถนำรูปแบบการจดบันทึกบูโจมาประยุกต์ใช้กับการจดบันทึกอื่นๆได้เช่นเดียวกัน อาทิ บันทึกรายรับรายจ่าย, บันทึกการออกกำลังกาย, บันทึกการนอน ฯลฯ
การจดบันทึก bullet journal หรือ bujo เป็นการจดบันทึกที่จะช่วยจัดระเบียบกระบวนการความคิดให้เป็นแบบแผนมากขึ้นและทบทวนเรื่องที่เคยผ่านมา นอกจากนี้ยังพัฒนาชีวิตของเราเองให้ดีขึ้นไปอีกด้วยและที่สำคัญเราจะได้มีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นอีกด้วย

เรื่อง
นิธิกานต์ บุรณจันทร์
สาวน้อยผู้พกความสดใสและหัวใจที่เต็มไปด้วยแมงกะพรุนย่าง สถานะโสดมาก มีน้องหมา1ตัว งื้อ

ภาพ
อภิชญา สิริมังคละเดช
ดีไซน์เนอร์ผู้ชื่นชอบแกงกะหรี่ญี่ปุ่นของแท้เป็นชีวิตจิตใจ เก็บซ่อนความดุร้ายและปลดปล่อยตลอดเวลาที่อยู่กับเพื่อน