“ผมไม่ได้ทำอะไรที่มันหวือหวามาก เป็นร้านเล็กๆ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแบรนด์ที่เราทำจะอยู่ได้เป็นร้อยปี” คุณบุญทวี สุปรีดิ์เวศน์ ผู้ก่อตั้ง TEA LUCK CHA ชาเบลนด์สัญชาติไทยแท้ เอ่ยอย่างนุ่มนวลแต่หนักแน่น การพูดคุยวันนี้ไม่ได้มีเพียงเสียงเพลงแว่วมาจากมุมหนึ่ง แต่ยังมีกลิ่นชาที่อบอวล ชวนให้บทสนทนากลมกล่อมยิ่งกว่าเดิม
อะไรทำให้ TEA LUCK CHA เป็นชาเบลนด์ในใจของใครหลายคน ความน่าสนใจและคำตอบของคำถามสอดแทรกอยู่ทุกมุมของเรื่องราว
จุดเริ่มต้นของชาเบลนด์ที่คนรัก

ทำไมต้อง TEA LUCK CHA
“ความหมายก็คือเป็นที่ที่คนรักชามารวมกันครับ ตอนที่เราเบลนด์ชาให้ลูกค้าต่างชาติ เขาบอกว่า ที่รักจ๊ะ เราใช้ชื่อนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นมิตรดี แล้วก็มีลูกค้าญี่ปุ่นบอกว่าพอแปลภาษาญี่ปุ่นแล้วความหมายดี หมายถึงความรัก ความอบอุ่น ความใส่ใจ”
TEA LUCK CHA มีที่มาที่ไปอย่างไร
“จุดเริ่มต้นที่เราลงมาสนใจเรื่องชา จริงๆ เรามองเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของชา 4,000 ปี มีอะไรน่าสนใจมากกว่าเป็นแค่ใบไม้ แล้วมาชงดื่ม ซึ่งจุดประกายเราว่า เหตุไฉนเมืองไทยที่มีธัญพืช ความหลากหลายทางพืชพันธุ์ธัญญาหารเยอะแยะ อุดมสมบูรณ์ เรื่องราวของเราไม่เคยถูกบันทึกมาเป็นพันๆ ปี ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเชื่อมพืช สมุนไพรเมืองไทยเข้าไปอยู่ในเครื่องดื่ม เลยเป็นจุดที่เราค้นคว้าขึ้นมา
แรกเริ่มเราตั้งสูตรขึ้นมา 3,000 สูตร หลังจากศึกษาเรื่องใบชาต่างๆ อิงจากตำราอารยุรเวช ตำราแพทย์แผนไทย ตำราแพทย์แผนจีน แล้วก็ตาราสมุนไพรทั่วโลกเลยที่เรานำมาใช้ หลังจากทดสอบ เราก็ปล่อยออกสู่ตลาด
ตอนแรกคนจะไม่ค่อยเข้าใจการทำชาเบลนด์ เขามีความรู้สึกว่าชาเบลนด์เป็นเรื่องที่แปลกใหม่ ถ้าเราพูดถึงชาอู่หลง เราจะนึกถึงประเทศจีน ทั้งที่เชียงรายเราปลูกชาได้ดี คุณภาพติดอันดับโลก แต่ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องชาที่แปลโดยต่างชาตินี่น่าน้อยใจเมืองไทยไม่มีเลย ตำราเดิมๆ ไม่มีเลย
เพิ่งมีไม่กี่ปีนี้ ที่เขียนว่าแหล่งปลูกชาของไทยมีที่เชียงราย แต่จริงๆ ชามีทางภาคเหนือทั้งหมดเลย เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ซึ่งเรามีวัฒนธรรมการบริโภคใบชาชื่อว่า ชาเมี่ยง เป็นตระกูลชาอัสสัม
ถ้าเราจะขายชาจีน มันต้องมีคำว่าจีนถูกไหม เราก็ไปนึกเลยว่า เอ๊ะ แล้วชาเมืองไทยจะทำอย่างไร จากใบชาแห้งๆ รสชาติ ขม เข้ม เพราะสารแทนนิน (Tannin) ก็เลยต้องใส่ผลไม้ลงไป จุดนี้น่าสนใจ ใบชาขายได้ทั่วโลกเขาผสมมะกรูด พีชลงไป เหตุฉไนทำไมเมืองไทยไม่ผสมลำไย ลิ้นจี่ หรือพืชสมุนไพร
ก่อนทำ TEA LUCK CHA เรามาอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าชาเบลนด์คืออะไร ชาเบลนด์คือชาที่ผสมปรุงแต่งรสชาติโดยมีใบชาเป็นตัวหลัก ให้มีรสชาติผลไม้ เราไม่มีแบรนด์ เปิดเป็นร้าน อาศัยร้านของเรา 8 สาขา ซึ่งแต่ก่อนเราขายอาหารสุขภาพ พอเราเปิด ทุกคนก็ไปชิมชาแล้วก้บอกว่าชาอันนี้สูตรนี้ๆ แล้วก็ตั้งชื่อไปเรื่อยๆ แต่พอเราขายไปนี้มันต้องอธิบายเยอะ อันนี้คืออะไร เป็นชาเบลนด์ ชาเบลนด์มาจากอะไร
หลังจากนั้นเราก็มาพัฒนาแล้วก็มาดูว่า การจะสื่อสารง่ายที่สุดก็คือทำแบรนด์ขึ้นมา เพราะว่าพอลูกค้ามาก็จะบอก อ๋อ แบรนด์นี้ อันนี้เป็นชามะม่วง อันนี้เป็นชานู่นนั่นนี่ สื่อสารกับลูกค้าง่ายขึ้น”

ก่อนมาเป็น TEA LUCK CHA
“แต่ก่อนผมสกัดน้ำมันพืช เอาพืชอะไรมาก็ได้ เราสกัดน้ำมันได้หมด แต่เดิมไม่เคยศึกษาเลย เพราะมีความรู้สึกว่าใบชาน่าจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ พอตอนเราเกิดมา เราเห็นป๊าม้าเราดื่ม เราก็มีความรู้สึกเหมือนคนแก่ๆ สุมหัวกันดื่มชา แต่หลังจากที่เราสกัดน้ำมันพืชก็มีไร่ชา มาติดต่อเราว่า เราสามารถสกัดน้ำมันชาได้ไหม
เขารับเราขึ้นไปอยู่ที่ไร่ชา ไปอยู่ครั้งหนึ่ง 7 – 14 วัน ที่ดอยแม่สะลอง ถ้าใครเคยไปเที่ยวสมัยก่อนเห็นว่ามีร้านชาเยอะ นักท่องเที่ยวไปเขาก็จะกวักมือเรียกมาชิม ชาอันนี้เป็นชาอู่หลงเบอร์ 12 เบอร์ 14 พอชงออกมาทุกร้านพูดเหมือนกันหมดว่าต้องดื่มแบบนี้
เราอยากรู้ก็เลยถามว่า แล้วเบอร์ 14 หรือ เบอร์ 12 ต่างจากร้านอื่นอย่างไร เขาก็จะบอก อ๋อ ต่างกันเพราะว่าหนึ่งสองสามสี่ ปรากฏว่ามันไม่ได้ฟื้นฟูความเป็นไทย หรือบอกว่ามันปลูกที่นี่ เรามีความรู้สึกว่า สมมติถ้าเราขึ้นไปพัฒนาใบชา เราจะช่วยอย่างไรบ้าง เราเลยตั้งศูนย์ชาขึ้นมาก่อน คิดสูตรแล้วก็มอบให้กับไร่ชา ตอนนั้นยังไม่มี TEA LUCK CHA
เรามี Know – How ในการแปรรูปเป็นน้ำมัน เป็นเครื่องปรุง เราเลยมานึกว่าตลาดที่น่าจะใหญ่ที่สุดคือตลาดเครื่องดื่ม เราลองทำสูตรออกไปแล้วขายให้กับต่างชาติ ก็มีบริษัทจากอังกฤษมาซื้อสูตรไป เราได้เงินจากตรงนั้นมาสามแสน ก็เลยรู้ว่าเมืองไทยได้เปรียบแล้ว เลยพัฒนามาจนครบ 3,000 สูตร”


ความตั้งใจของ TEA LUCK CHA คืออะไร
“เป้าหมายของเราคือเราจะพัฒนาอย่างไรในการนำเครื่องดื่มที่เรียกว่าชา เข้ามาสอดคล้องกับสมุนไพร ธัญพืช ผักผลไม้ต่างๆ ที่มีในเมืองไทย ซึ่งมีความหลากหลาย”

เรื่องราวหลังกาน้ำชา
เมื่อคนโฆษณามาทำชา เราจึงไม่ได้ดื่มด่ำเพียงรสชา แต่ยังได้จิบเรื่องราวแสนกล่มกล่อมไปพร้อมกันด้วย
“จะสังเกตว่า TEA LUCK CHA ทุกกระป๋อง มีเรื่องราวของสูตรอยู่ แต่ละสูตรไม่เหมือนกัน ก็จะยกเครดิตให้ชาวบ้านด้วย อย่างเช่น เราเอาชาดำหรือชาอู่หลงมาจากชาวบ้านก็จะเขียนว่าอันนี้เป็นสินค้าจากชาวบ้านอะไรบ้าง
พอเรานำมาผสมดอกไม้ อย่างเช่น สูตร Flower whisper เราก็จะเขียนเรื่องราว ดั่งเสียงกระซิบของดอกไม้ที่ผ่านไปตามสายลม… เราต้องเขียนออกมา เพราะเรามีความรู้สึกว่าคนที่จะดื่มชา หรือเสพความสุขกับสินค้าเรา ควรจะเข้าไปอยู่ในเรื่องราว เขาจะดื่มด่ำกับมัน แล้วจะมีความรู้สึกว่าใช่ เหมือนตอนเราสอนเบลนด์ชา เราสอนว่าการจะเอาใบไม้มาผสมกัน ไม่ใช่ว่าผสมตามอัตราตัวตนของตัวเอง แต่ต้องมีที่มาที่ไป
พอเราทำได้ เราพร้อมที่จะให้ทุกคนมาแข่ง แต่แข่งในเชิงสร้างสรรค์ อย่างไปเจอชมพู่ เอาชมพู่มาทำ ก็ได้ผลประโยชน์กับชาวบ้าน เมื่อสัก 2-3 ปีที่แล้ว เมล็ดกาแฟของลำปางขาดทุนมาก ขายไม่ได้ราคา 3-4 ปีก่อน กาแฟไม่บูมขนาดนี้ ถูกกดราคา พอถูกกดราคาเขาทำอย่างไรครับ เขาก็ต้องหาที่ขาย บริษัทใหญ่ก็จะไปกว้านซื้อราคาถูก
คราวนี้ชาวบ้านก็มาถามว่า อาจารย์ เมล็ดกาแฟนี้อาจารย์ช่วยซื้อหน่อยสิ ว่าจะเอาไปทำอะไรได้ เราก็เลยเอาเมล็ดกาแฟมาแปรรูป คั่วเข้มเลย แล้วก็ผสมเข้ากับใบชา”
ชาเบลนด์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
“ชาเบลนด์ที่ดีรสชาติควรจะกลมกล่อม แล้วก็ตรงกับจุดมุ่งหมายของการเบลนด์ อย่างเช่น สมมติเราจะช่วยชาวไร่ เอาส้มโอมาผสมกับชา เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอคือส้มโอ ทำไมต้องส้มโอที่นี่ แล้วก็ผสมออกมาเราคาดหวังให้ลูกค้าได้ความรู้สึกอะไรหลังจากดื่มชานี้”
ความสนุกของการทำชาเบลนด์คืออะไร
“ไม่จำกัดครับ เพราะสามารถทำอะไรก็ได้ สามารถสร้างสรรค์อะไรก็ได้จากธรรมชาติ แต่การที่คุณจะสร้างสรรค์จากธรรมชาติ คุณต้องเข้าใจธรรมชาติ ต้องรู้จักดี แล้วคุณต้องไม่ทำให้ธรรมชาติเสียไป
คุณอาจจะเอาน้ำส้มสายชูใส่ ถามว่ามันได้ไหม ได้นะ แต่ว่าไม่มีที่มาที่ไป คุณคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค หรือเอาความสะใจของผู้สร้างอย่างเดียว มันไม่ใช่เนอะ ต้องเป็นอะไรที่สอดคล้องกับธรรมชาติ แล้วก็ทำให้รสชาติออกมาสร้างความทรงจำได้
ตอนที่เราทำ เราเรียนรู้เรื่องการใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดก็คือ ตา สี กลิ่น รส ผมถนัดในการแปรรูปพืช พืชทุกชนิดมีกลิ่นเฉพาะของตัวเอง การเบลนด์ชา หัวใจสำคัญคือคุณต้องเข้าใจทั้งหมดแล้วเอามารวมกัน ทำไปเรื่อยๆ เขียนสูตรแล้วก็ทดสอบ เราจะชิมเยอะมาก

ความยากที่สุดคืออะไร
“การสื่อสารกับผู้คนแล้วก็ระบบเงินทุน เราไม่ได้แข่งเฉพาะกับตัวเราเอง เราแข่งกับแบรนด์ดังต่างชาติ แล้วแบรนด์ดังต่างชาติเงินทุนเขาเยอะ แล้วเขาพร้อมทุกอย่าง เราเป็นรายเล็กๆ เราก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีทำการตลาดซึ่งไม่ใช่เอาทุนมาชน”
ใน 5 ปีที่ TEA LUCK CHA เติบโตขึ้นมา คุณพึงพอใจมากแค่ไหน
“ตอนนี้เราสัมผัสได้ มีกลุ่มลูกค้าเป็นลูกค้าประจำ มีการบอกต่อ มีการสืบทอดระหว่างลูกค้า ลูกซื้อให้แม่ แม่ซื้อให้ลูก เพื่อนแนะนำให้เพื่อน มีความภักดี ไว้เนื้อเชื่อใจ
สิ่งที่เราคิดก็คือว่า ถ้าผมทำได้คนเดียว พอผมตายไป ชาวบ้านที่ติดต่อกับเราทำอย่างไร Know-how ชาวบ้านนี่เก่ง การปลูกพืช ให้เขาปลูก เขาเก่ง แต่สิ่งที่เขาไม่เก่งคือการตลาด ก็เลยต้องเป็นคนรุ่นใหม่ลงไปช่วย”
แกนหลักต้องแม่นยำ – คุณบุญทวีเน้น “เราไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่ง สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้คือ Know-how”
ฟังมาถึงตรงนี้ สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้คือจุดแข็งของ TEA LUCK CHA ไม่ใช่ความโด่งดังแต่เป็นความรู้ทักษะและความชำนาญอันเต็มเปี่ยมของผู้ก่อตั้งอย่าง คุณบุญทวี

คุณมองอนาคตของ TEA LUCK CHA ไว้อย่างไร
“เป็นแบรนด์ที่ทุกคนซื้อติดบ้าน พื้นฐานชาติดบ้าน พอพูดถึงชาต้องมีแบรนด์เราเป็นหนึ่งในนั้น และพนักงานของเราพอถึงจุดหนึ่งเรายกหุ้นให้ เพราะสิ่งที่เป็น passion เรา ไม่ได้เป็นเฉพาะของเรา แต่เป็นคุณสามารถตอบแทนแผ่นดินที่คุณอยู่ นี่คือเป้าหมาย
อย่างเช่น คุณไปช่วยชาวบ้าน คุณไม่ต้องรับซื้อจากเขาหมดก็ได้ แต่วันหนึ่งถ้าคุณมีทุน ชาวบ้านเขาเหมารถมาบอก ขอเรียนรู้วิธีการแปรรูปจากคุณ คุณโอเคไหม ถ้าคุณโอเคก็แสดงว่าคุณกำลังคืนอะไรให้กับสังคม เราไม่ได้คิดเฉพาะแบรนด์ เราจะทำอะไรที่มันยั่งยืน TEA LUCK CHA เป็นหนึ่งในสิ่งที่จะทำให้เราเข้าไปสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น”
คุณคิดว่าอะไรคือหัวใจที่ทำให้คนรัก TEA LUCK CHA
“ความจริงใจ การสื่อสารกับลูกค้าแบบจริงๆ ตรงๆ แล้วเป็นสิ่งที่จับต้องได้”
สนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ผ่านช่องทาง : Facebook TEA LUCK CHA , Line: @tealuckcha

เรื่อง
สุพิชชา จินดา
หญิงสาวผู้เลือกเรียนภาควิชาภาษาไทยเพราะชอบอ่านหนังสือ ภาษาอังกฤษก็พอได้ อย่างสีเหลือง เยลโล่ มะม่วง แมงโก้ เตา อั้งโล่…

ภาพ
ปริญญาฤดี ป่าชัด
ช่างภาพสาวน้อยขี้เล่น เจ้าชู้ กวนหัวใจสาวๆ ผู้หลงใหลไปกับหญิงสาวน่ารักทุกคนที่เดินผ่าน