คนส่วนใหญ่เวลาทำสิ่งของแตกอย่างเช่น จาน แก้ว ก็มักจะนำไปทิ้ง เพราะถึงซ่อมยังไงก็ไม่กลับมาสมบูรณ์อย่างเดิม เหมือนคำพูดที่ว่า “สิ่งที่แตกไปแล้วมิอาจหวนคืน” ชีวิตคนเราในยุคสังคมปัจจุบันสร้างให้ทุกคนต้องสมบูรณ์ ต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย แม้มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยก็ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลว เป็นบาดแผลที่ไม่มีวันจางหายไปจากชีวิต แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วเขามีความคิดว่า ‘สิ่งใดที่แตกสลายแล้ว ซ่อมแซมใหม่ได้เสมอ’ จึงเกิดเป็นศิลปะการซ่อมแซมภาชนะที่เรียกว่า “คินสึงิ” ขึ้นมา
คินสึงิ (金継 kintsugi) ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายดังนี้ คิน (金) แปลว่าทอง และ ซึงิ(継) แปลว่าต่อ เชื่อมหรือผนึก ประวัติความเป็นมาของ คินสึงิ ต้องขอเล่าย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 15 โชกุนของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า อาชิกางะ โยชิมาสะ (Ashikaga Yoshimasa) ได้ส่งถ้วยชาที่เสียหายไปยังประเทศจีนเพื่อซ่อมแซม ถ้วยชาที่นำไปซ่อมแซมก็ถูกส่งกลับมาในสภาพที่มีตัวเย็บเหล็กที่ไม่สวยงาม ทำให้โชกุนต้องคิดค้นหาวิธีที่ดีกว่าในการซ่อมแซมถ้วยชาที่พัง ช่างฝีมือของโชกุนจึงมองหาวิธีอันงดงามในการประกบภาชนะอีกครั้งจึงเกิดขึ้นเป็นเทคนิคคินสึงึนั้นเอง

วิธีซ่อมแซมภาชนะของคินสึงึคือ การนำยางรัก หรือ อุรุชิ ที่สกัดมาจากยางของต้นอุรุชิของญี่ปุ่นผสมเข้ากับ ทอง แล้วนำมาซ่อมแซมภาชนะส่วนที่แตกหรือบิ่นให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ครั้ง เหตุผลที่เลือกนำยางรักมาใช้เนื่องจาก ยางรักมีความทนทานและปลอดภัยในการใช้งานเกี่ยวกับอาหาร นอกจากนี้คนญี่ปุ่นเชื่อกันอีกว่า ถ้วยชามที่แตกนั้นไม่ควรทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมแซมเพื่อให้พวกมันกลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง
การซ่อมแซมภาชนะที่เสียหายด้วยเทคนิคคินสึงึอย่างนี้ หากเปรียบเทียบกับชีวิตแล้วศิลปะรอยร้าวที่ยังคงอยู่หลังจาการซ่อมแซมคือความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เราต่างพบเจอ ซึ่งบางคนอาจกำลังจมอยู่กับความทุกข์เหล่านี้ ตามหลักการของคินสึงิ ไม่มีประสบการณ์ใดที่นับว่าสูญเปล่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่เมื่อมันเกิดขึ้นกับชีวิตแล้ว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบทเรียนให้ตัวเราได้เรียนรู้

ด้วยเหตุผลนี้ “คินสึงิ” จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเยียวยาบาดแผลทางใจ เป็นตัวช่วยให้เราได้มีโอกาสมองเห็นความงดงามของชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ “เพราะเราไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงเป็นมนุษย์” ความรู้สึกล้มเหลวนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป แปลว่าในแต่ละวันๆ เรามีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เรียนรู้จากความผิดพลาด และก้าวหน้าต่อไปในวันที่ชีวิตมีรอยปริแตก เราสามารถให้อภัยคนอื่นได้ก็อย่าลืมให้อภัยตัวเองเช่นกัน การเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานกว่าจะก้าวผ่านมันไปให้ได้ แต่ก็ไม่ยากจนเกินกว่าที่เราจะทำได้ และภูมิใจกับทุก ๆ บาดแผลที่เกิดขึ้นในชีวิต
อย่างก็ตามภาชนะที่ที่ผ่านการทำคินสึงิมาแล้ว ถึงแม้จะยังใช้งานได้แต่ถ้วยที่แตกแล้วก็คือแตกแล้ว ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม แต่เต็มใจที่จะใช้ถ้วยชาที่มีรอยร้าว สอดคล้องกับอีกหนึ่งปรัชญาเก่าแก่ในการดำรงชีวิตของคนญี่ปุ่นนั่นคือ “วะบิ สะบิ” (侘寂 Wabi-sabi) การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งที่ขึ้นอีกด้วย

เรื่อง
นิธิกานต์ บุรณจันทร์
สาวน้อยผู้พกความสดใสและหัวใจที่เต็มไปด้วยแมงกะพรุนย่าง สถานะโสดมาก มีน้องหมา1ตัว งื้อ

ภาพ
อภิชญา สิริมังคละเดช
ดีไซน์เนอร์ผู้ชื่นชอบแกงกะหรี่ญี่ปุ่นของแท้เป็นชีวิตจิตใจ เก็บซ่อนความดุร้ายและปลดปล่อยตลอดเวลาที่อยู่กับเพื่อน