‘พี่ซาน – สุนทร มิ่งสิริเจริญ’ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผันตัวจากการทำงานในเมืองที่แสนจะวุ่นวาย เคยลองทำงานมาหลากหลายอาชีพ แต่เลือกกลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นผ่านการสร้างระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ และ ‘คุณป้าดวงพร ’ Supporter ที่คอยช่วยเหลือพี่ซานในทุกๆ ด้าน


เกษตรรุ่นใหม่คนนี้ไม่เพียงแต่สนุกกับการเรียนรู้และการพัฒนาปรับปรุงพื้นสำหรับการปลูกกาแฟเท่านั้นแต่ในใจลึกๆ ก็หวังด้วยว่าในอนาคตข้างหน้า กาแฟจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยนำให้คนอื่นรู้จักหมู่บ้านดอยปางขอน สร้างอาชีพมีรายได้และชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น


พี่ซานเล่าว่า ใช้ระยะกว่า 4 ปี เริ่มวางแผนก่อนที่จะกลับมาทำเกษตรอย่างเต็มตัว โดยพี่ซานมักจะใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ เริ่มศึกษาเรื่องกาแฟ ทั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์ การปลูก การดูแลรักษา ฯลฯ มีงานอบรมที่ไหนก็ไป และค้นคว้าหาข้อมูลเอง ศึกษาจากงานวิจัยบาง หาอ่านบทความตามเพจบาง นอกจากนี้ยังใช้เวลาช่วงวันหยุดจากการทำงานประจำวันเสาร์ – อาทิตย์ มาดูแลสวนกาแฟเป็นประจำทุกอาทิตย์ จนในที่สุดทำงานได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาทำไร่กาแฟที่ดอยปางขอนอย่างจริงจัง บนพื้นที่ของคุณป้าดวงพร


คุณป้าดวงพรเล่าเสริมว่า ก่อนที่จะมาปลูกกาแฟ ได้ลองปลูกพืชมากมายทั้ง ลิ้นจี่ ท้อ บ๊วย ฯลฯ แต่ปริมาณผลผลิตที่ออกมามีจำนวนน้อย ราคาไม่ได้ และไม่มีตลาดสำหรับขาย ครั้งหนึ่งพี่ซานจากเดิมที่เป็นไม่ดื่มกาแฟ พอได้ลองดื่มก็รู้สึกชอบและหลงไหลในกลิ่นหอม จึงได้มาปรึกษากับคุณป้าดวงพร แล้วเริ่มมาปลูกกาแฟ


พอตัดสินใจได้ว่าจะปลูกกาแฟ สิ่งแรกที่พี่ซานและคุณป้าดวงพรช่วยกันลงมือลงแรงทำคือ การปลูกต้นไม้ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อที่จะให้กาแฟเติบโตได้ดี และต้องเป็นต้นไม้ใหญ่แทนการปลูกพืชอย่างอื่นที่สามารถทำเงินได้ เพราะกาแฟเป็นพืชป่า เจริญเติบโตได้ดีกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นสภาพป่า พี่ซานจึงเลือกต้นไม้ใหญ่อย่าง ต้นขี้เหล็กมาปลูก เพราะใบของต้นขี้เหล็กมีธาตุไนโตเจนสูง เมื่อใบร่วงลงมาทับถมและย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารชั้นดีสำหรับต้นกาแฟ และร่มเงาจากต้นขี้เหล็กช่วยบังแสงแดดให้ต้นกาแฟ ช่วยควบคุมอุณหภูมิและความเข้มของแสงแดดที่มากเกิน


เพื่อให้เกิดความเหมาะสมพอดีต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ หญ้าที่ขึ้นตามพื้นดินก็ไม่ตัดด้วยเช่นกัน เพราะต้นหญ้าเล็กๆ เหล่านี้เปรียบเหมือนฟองน้ำที่ทำให้หน้าดินคงความชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ รักษาผืนป่า ทำให้กาแฟของ Magpie Farm มีความพิเศษมากกว่าที่อื่น


ความยากลำบากของการทำไร่กาแฟคืออะไร
“เรื่องการดูแลต้นกาแฟให้แข็งแรงสมบูรณ์ซึ่งเป็นศาสตร์ในการทำเกษตร ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเยอะหน่อย ทำการบ้านมากกว่าคนอื่น ต้องเข้าหาคนที่มีความรู้ อย่างเช่น ไปหาคนที่ทำเกษตรเก่งแล้วศึกษาว่าเค้าปลูกอย่างไร ดูแลอย่างไร ร่วมถึง ต้องอาศัยความอดทน เพราะสิ่งที่เราเป็นสิ่งใหม่ เราจะไม่คุ้นเคยกับมัน และงานสวนส่วนใหญ่เป็นงานภาคสนามที่ต้องใช้แรง เราก็จะต้องอดทนแบบนี้ให้ได้”


ความสนุกของการทำไร่กาแฟคืออะไร
“คือ การที่เราได้ทำในสิ่งที่รัก บวกกับชีวิตของเรามีความหมาย มีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าสิ่งนี้ที่เราทำ เราทำเพื่อใคร เราทำเพื่ออะไร และอีกหนึ่งความสนุกคือการได้ยินเสียงนก เสียงน้ำ เสียงลมพัดที่พัดผ่านต้นไม้ เป็นเหมือนเพลงที่ธรรมชาติแต่งขึ้น แต่ละวันก็จะได้ยินเพลงที่แตกต่างกันไปไม่เหมือนกันเลยสักวัน”

เป้าหมายในอนาคตของ Magpie farm
“สถานที่แห่งจะต้องเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือต้องการให้ชุมชนตระหนัก รัก และหวงแหน ทรัพยากรธรรมชาติที่นี้” คุณป้าดวงพรเสริมต่ออีกว่า “อยากให้ที่นี้กลายเป็นสถานที่ส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ หรือคนที่สนใจในเรื่องของกาแฟ หรือมีกิจกรรมให้มาทดลองการใช้วิถีชีวิตเรียบง่ายของคนบนดอย ไปเก็บผัก เก็บผลไม้ ก็คงจะน่าสนุกไม่น้อยเลยนะคะ” (ยิ้ม)

ความทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจของพี่ซานและคุณป้าดวงพรที่เริ่มต้นตั้งแต่การปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้เหมาะสมกับการปลูกต้นกาแฟ จนทำให้กาแฟของ Magpie farm เป็นตัวนำพาให้พวกเราชาว CRAFT มารู้จักสถานที่แห่งนี้ รวมถึงได้ช่วยหลือชุมชนไม่ให้ถูกปล่อยทิ้งไว้แล้วเหลือแค่คนเฒ่าคนแก่ ทั้งหมดที่พี่ซานและคุณป้าดวงพรทำก็เพื่อทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนเกิดขึ้น มีความสุข และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อะคึโบโม๊ะมากๆ นะคะพี่ซานและพี่ดวงพร 😊 (ขอบคุณมากๆนะคะพี่ซานและพี่ดวงพร)
สนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ผ่านช่องทาง Facebook : Magpie farm

เรื่อง
นิธิกานต์ บุรณจันทร์
สาวน้อยผู้พกความสดใสและหัวใจที่เต็มไปด้วยแมงกะพรุนย่าง สถานะโสดมาก มีน้องหมา1ตัว งื้อ

ภาพ
ปริญญาฤดี ป่าชัด
ช่างภาพสาวน้อยขี้เล่น เจ้าชู้ กวนหัวใจสาวๆ ผู้หลงใหลไปกับหญิงสาวน่ารักทุกคนที่เดินผ่าน