ที่นี้อาจจะไม่ใช่ที่ที่ดีที่สุด แต่ทุกคนที่เข้ามาที่นี้จะเข้าใจว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ 

“you are what you eat” กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ประโยคคลาสสิคที่มักใช้เตือนใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะในแต่ละวันเราบริโภคสารเคมีมากมายโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่รู้ว่าอาหารที่เรากินเข้าไปนั้นมีสารเคมีเจือปนอยู่ ภายใต้สถานการณ์ในบ้านใต้หลังคาเดียวของเราเต็มไปด้วยอณูสารเคมี ทั้งในอากาศ น้ำดื่ม รวมไปถึงอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนถึงเริ่มหันมากินอาหารออร์แกนิค หรือ อาหารเกษตรอินทรีย์เพื่อเสริมสุขภาพ แต่ด้วยราคาที่สูงกว่าอาหารทั่วไป ทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทุกกลุ่ม

อีกด้านหนึ่ง เกษตรกรไทยก็มีข่าวราคาพืชผลตกต่ำ รายได้น้อยมาตลอดหลายปี เป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติเพราะการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้กลุ่มคนที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของโลกยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนนับล้านคน

จะดีกว่าไหมหากมีการแก้ปัญหาทั้งสองสิ่งได้ภายในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินอาหารออร์แกนิกราคาถูกลงและเข้าถึงง่าย ขณะเดียวกันเกษตรกรก็เพิ่มมูลค่าสินค้าของตนเองได้ ช่วยขยับฐานะทางการเงินให้ดีขึ้น 

จะเฮสุพจน์ หลี่จา และ ชิโอะสุนีพร หลี่จา สามีภรรยาเจ้าของ สวนฉันกับเธอบ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน  จ.เชียงราย สวนเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกโกโก้เป็นหลัก ภายใต้แนวความคิดที่ว่า ไม่มีใครสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ทุกอย่างจำต้องอยู่ร่วมกันอย่างอาศัยและเกื้อกูล จึงเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (ฉัน/ผู้ผลิต) เพื่อให้ชุมชนและคนภายนอก (เธอ/ผู้บริโภค) ได้มองเห็น เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย 

นอกจากตำแหน่งเจ้าของสวนแล้ว พี่สุพจน์ยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ เคยทำประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารมาก่อน มีหลายๆ สวนขอพี่น้องชาติพันธุ์หันมาปลูกพืชอย่าง ยาง ข้าวโพด  ซึ่งพืชเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์ เพราะพืชเศรษฐกิจนำมาซึ่งสารเคมี เป็นตัวทำลายความหลากหลายของพรรณพืชท้องถิ่น และสารเคมีเหล่านี้ส่งต่อถึงผู้บริโภค ถ้าหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

พี่สุพจน์บอกว่า เพราะเราเป็นนักพัฒนาองค์กรเอกชน ทำธุรกิจไม่เป็น ที่ทำก็เพื่อเอาไปสอนชาวบ้าน คุณต้องกินทุกอย่างที่คุณปลูกก่อนที่จะให้คนอื่นกิน ไม่ใช่ปลูกและขายอย่างเดียวโดยที่ตัวเองไม่กิน ถ้าตัวเองปลูกแล้วขายแต่ไม่กิน อาจจะเป็นไปได้ว่าผักที่ปลูกใช้สารเคมี เพราะขนาดตัวเองยังไม่กินเลย! แสดงว่าเกษตรไม่มีความสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม 

พี่สุพจน์พัฒนาส่งเสริมต้นทางก็คือผู้ผลิตให้มีความเข้าใจ ให้มีสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองต่อผู้บริโภคต่อสิ่งแวดล้อม อีกด้านพี่สุพจน์ก็ต้องพัฒนาผู้บริโภคด้วย ไม่ใช่ไปส่งเสริมฝ่ายผลิตอย่างเดียวขณะที่ผู้บริโภคไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ก็ต้องไปทั้ง 2 ทาง ให้ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดี เข้าใจ แล้วก็มามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงและก็ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามมากที่สุดคือ ไม่ใช่แค่ผลิตช็อคโกแลต แล้วได้กินช็อคโกแลตอย่างเดียว แต่มันบ่งบอกถึงเรื่องความรับผิดชอบร่วมในสังคม ผู้บริโภคคุณก็มีความสำคัญที่สามารถช่วยเหลือเกษตรได้ให้เขาผลิตระบบอินทรีย์ทั่วประเทศได้ไม่ใช่แค่ที่นี้ที่เดียว เพราะฉะนั้นที่นี้ต้องการเป็นสถานที่เรียนรู้ของผู้บริโภคโดยใช้โกโก้เป็นตัวสื่อ” 

สวนฉันกับเธอ จากจุดเริ่มต้นสภาพพื้นที่ของสวนอาจจะไม่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟ และ สวนกาแฟไฟไหม้บ่อยมาก พี่สุพจน์และพี่ชิโอะหันมาปลูกโกโก้แทน ควบคู่กับการปลูกพืชตามแนวป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือ สร้างป่าสร้างคนด้วยโกโก้ 

การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกไม้ใช้สร้อย ไม้เศรษฐกิจ และไม้ผิวดิน สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย เมื่อสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ สารเคมีก็ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นป่าโกโก้ของสวนฉันกับเธอจึงมีพืชพรรณอย่างอื่นมากมายเต็มไปหมดซึ่งพืชพรรณทุกอย่างรวมถึงโกโก้ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ 100 % เป็นออร์แกนิครับรองโดยสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย(TOCA )

หากเดินทางมาที่สวนฉันกับเธอ นอกจากชมสวนโกโก้ที่มีพื้นที่อยู่ 2 ฝั่ง จำนวน 18 ไร่ มีแม่น้ำจันเป็นคลองยาวไหลผ่านกลางสวนและต้องเดินผ่านสะพานไม้ไผ่เพื่อข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่วันที่ทาง CRAFT ไปถึง คืนก่อนหน้าฝนตกหนักมาก สะพานพังและน้ำไหลเชี่ยวมาก พี่สุพจน์ต้องเอาเรือมาพาพวกเราข้ามไปอีกฝั่ง เป็นเรื่องเซอร์ไพรสมากๆ สำหรับทริปนี้ การปลูกและดูแลต้นโกโก้อยู่ในความดูแลของพี่สุพจน์ทั้งหมด ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าจะออกผลที่นำมาแปรรูปเป็นช็อคโกแลตได้

ในส่วนกระบวนการแปรรูปต่างๆ นั้น พี่ชิโอะเป็นเสาหลักในการดูแล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์สวนฉันกับเธอ คือเวิร์คชอปเรียนรู้การทำช็อคโกแลตจากผลโกโก้ของสวน แน่นอนว่า CRAFT ก็ไม่พลาดที่จะลองทำเวิร์คชอป พี่ชิโอะพาเราเที่ยวชมพร้อมอธิบายอย่างละเอียดยิบ ไม่มีกั๊ก ตั้งแต่ขั้นตอนแรกการแกะผลโกโก้ การหมัก การตาก ไปจนถึงการคั่วด้วยเตาถ่าน อุปกรณ์ครัวง่ายๆ จนถึงขั้นสุดท้ายการปั่น การใส่แม่พิมพ์จนได้เป็นช็อกโกแลตรสชาติเข้มข้น นำมาทำขนมหรือเครื่องดื่มเมนูไหนก็อร่อย

พี่ชิโอะเล่าว่า จริงๆ แล้ว โกโก้ ถ้าเราไม่เก็บระหว่างทาง เราไม่ได้กำไรเลยนะ ถ้าขายเฉพาะเมล็ด ต้นทุนของเราก็ยังแพง เพราะฉะนั้นการเก็บเกี่ยวระหว่างทางจะช่วยให้ต้นทุนของสวนถูกลง อย่างเช่น การนำน้ำหมักโกโก้มาขายเป็นน้ำโกโก้สด หรือนำปุยสีขาวของเมล็ดโกโก้มาทำเป็นไวน์ โกโก้ไม่ได้แค่แปรรูปแล้ว ทำได้แค่เพียงช็อคโกแลตเท่านั้น พี่ชิโอะจึงนำสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการแปรรูปโกโก้เป็นช็อคโกแลต มาทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น เอาไขมันโกโก้ที่ได้จาการหีบเมล็ดโกโก้มาทำเป็น สบู่ น้ำมันทาผิว  เปลือกของผลโกโก้นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักใช้เองในสวน ประหยัดต้นทุนและเป็นเกสรอินทรีย์ ทำให้พี่สุพจน์และพี่ชิโอะสามารถขายช็อคโกแลตในราคาย่อมเยาได้

หรือใครสนใจถ้าอยากพักค้างคืนที่นี้สวนฉันกับเธอก็มีให้บริการ พร้อมกิจกรรมรอบกองไฟ รับประทานอาหารพื้นบ้านชนเผ่าลีซู ชมหิ่งห้อยริมลำธาร ยามแลง รูปแบบกิจกรรมต่างๆ ผู้มาเที่ยวสามารถเลือกได้ตามใจชอบ หรือถ้าคิดไม่ออกว่าจะจัดตารางกิจกรรมอย่างไงดี สามารถให้พี่ชิโอะและพี่สุพจน์จัดกิจกรรมให้ได้ แต่พี่ชิโอะแนะนำว่าให้โทรมาจองล่วงหน้า จะได้ให้ต้อนรับและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที (ยิ้ม)

สนับสนุนผลิตภัณฑ์ได้ผ่านช่องทาง : Facebook สวนฉันกับเธอ 

เรื่อง
นิธิกานต์ บุรณจันทร์

สาวน้อยผู้พกความสดใสและหัวใจที่เต็มไปด้วยแมงกะพรุนย่าง สถานะโสดมาก มีน้องหมา1ตัว งื้อ

ภาพ
ปริญญาฤดี ป่าชัด

ช่างภาพสาวน้อยขี้เล่น เจ้าชู้ กวนหัวใจสาวๆ ผู้หลงใหลไปกับหญิงสาวน่ารักทุกคนที่เดินผ่าน

บทความที่เกี่ยวข้อง